Cohousing.org ได้พูดถึงไอเดียนี้ไว้ว่า “แรกเริ่มนั้นมาจากเดนมาร์ก และถูกนำมาใช้ต่อในประเทศอเมริกา นำเข้าโดยสถาปนิก Kathryn McCamant และ Charles Durrett ในช่วงต้นปี 1980 “ชุมชนผู้อยู่อาศัย” มีลักษณะเหมือนหมู่บ้านทั่วๆไป บ้านแต่ละหลังก็จะมีคุณสมบัติเหมือนบ้านปกติ แต่ผู้อยู่อาศัยนั้นจะแชร์สาธารณูปโภคบางอย่างร่วมกัน เช่น พื้นที่อเนกประสงค์ สนามหญ้า สนามเด็กเล่น และบ้านส่วนกลาง” ปัจจุบันนี้มีหมู่บ้าน cohousing เป็นร้อยๆที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเดนมาร์ค แคนาดา ออสเตรเลีย สวีเดน นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน ฝรั่งเศส เบลเยียม ออสเตรีย และอีกมากมาย ในเว็บ Cohousing.org เองก็มีถึงสองร้อยกว่าหมู่บ้านที่ทั้งเปิดบริการแล้วและกำลังอยู่ในช่วงวางแผนอยู่ในบัญชีรายชื่อ
เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับ 9 หมู่บ้าน cohousing ทั่วยุโรปเพื่อที่จะสร้างความตื่นตัวและเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างของ cohousing ให้มากขึ้น Deskmag จะพาทุกท่านไปพูดคุยกับผู้ร่วมเขียนหนังสือเล่มนี้และพาคุณไปรู้จักความเป็น cohousing ให้มากขึ้น รวมไปถึงวิถีชีวิตของการ cohousing และความเกี่ยวข้องกับวิถี coworking
“CoHousing Cultures”
ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว องค์กรที่เบอร์ลิน id22 ได้จัดพิมพ์หนังสือ CoHousing Cultures: Handbook for Self-organized, Community-oriented and Sustainable Housing เป้าหมายของหนังสือเล่มนี้คือการสร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับ cohousing ในด้านต่างๆ รวมไปถึงการเจาะลึก 9 หมู่บ้าน cohousing ที่อยู่ในเมืองทวีปยุโรป Berlin, Basel, Stockholm, Brussels, Tübingen, Milan, Vienna, Copenhagen, และ Amsterdam หนังสือสองภาษาเล่มนี้ (เยอรมันและอังกฤษ) เป็นผลงานเขียนร่วมระหว่าง Dr. Michael LaFond และ Thomas Honeck และยังมีบทความจากเหล่าผู้เชี่ยวชาญด้าน cohousing รวมไปถึงเรื่องราวประสบการณ์จากคนที่เคยเป็นสมาชิก cohousing และด้วยองค์ประกอบเหล่านี้จึงทำให้หนังสือเล่มนี้สร้างสีสันและความหลากหลายให้แก่วงการ cohousing ในยุโรป
หนังสือเล่มนี้พูดถึงวิธีการแก้ปัญหาเชิงวิถีชีวิตการอยู่อาศัยของสังคมเมืองในปัจจุบัน Deskmag ได้พูดคุยกับคุณ LaFond ซึ่งเน้น “การเจาะลึกในความแตกต่าง” ในแง่ที่ “ผู้คนในเมืองส่วนใหญ่ต้องการทางเลือก ระบบครอบครัวไม่ได้มีการวางมาตรฐานเหมือนแต่ก่อนแล้ว Cohousing และ coworking ก็คือคำตอบสำหรับทางเลือกเหล่านั้น”
:::
id22 คืออะไร?
LaFond เล่าว่า “id22 เริ่มขึ้นใน ufaFabrik (เมื่อปี 2000) ... ที่นี่เป็นสถานที่สำคัญเพราะเป็นเหมือนผู้บุกเบิกในด้านการปรับปรุง การซ่อม และการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ เพื่อไม่ใช่แค่ชีวิตที่ฉาบฉวย แต่เพื่อความยั่งยืนในระยะยาว และนั่นก็เป็นแนวคิดหลักสำหรับองค์กรเรามาประมาณ 10 หรือ 15 ปีแล้ว” โปรเจกต์แรกของ Id22 คือ “Festival of Culture, Community, and Ecology” ในช่วงฤดูร้านปี 2000 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2003 ทาง id22 ได้จัดทำการประชุมเพื่อการก่อตั้งซึ่งทำให้ id22 กลายเป็นองค์กรไม่หวังกำไรอย่างเป็นทางการซึ่งเกื้อกูลกับแนวคิด “ความยั่งยืนอย่างสร้างสรรค์” LaFond อธิบายเสริมถึงคำนั้นว่า id22 ได้รับแรงบันดาลใจอย่างมากจากศิลปินอย่าง Joseph Beuys ที่กล่าวไว้ว่า “ทุกๆคนคือศิลปิน” มันเป็นแนวคิดที่ช่วยปลดปล่อยและมอบพลังให้แต่ละคนเลือกหาวิธีแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์เพื่อตอบสนองความต้องการของแต่ละคน Lafond ยังกล่าวต่ออีกว่า เมื่อพูดถึงทางด้านการเมืองแล้ว id22 เชื่อว่า “ทุกๆคนต่างก็มีสิทธิ์ที่จะช่วยกันปรับสภาพแวดล้อมในละแวกบ้านตัวเอง”
ในระหว่างช่วงปี 2002 และ 2005 id22 จัดตั้งโครงการ WEEK of Sustainability (อาทิตย์แห่งความยั่งยืน) เพื่อดึงผู้คนหลากหลายที่มีงานเกี่ยวข้องกับความยั่งยืน แต่ตามที่ LaFond ได้กล่าวไว้ มันค่อนข้างยากที่จะเข้าถึงกลุ่มใหญ่ โดยมีปัญหาหลักอยู่ที่การใช้คำศัพท์ คนส่วนมากจะกลัวคำว่า “ความยั่งยืน” เพราะมีความรู้สึกเข้าถึงไม่ได้ ทำให้ในโครงการหลังจากนั้นต้องเลือกใช้คำอื่นที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า ถึงแม้จะมีความยั่งยืนเป็นแกนหลักก็ตาม
หนึ่งตัวอย่างโครงการร่วมของ id22 คือ Experimentcity ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่แตกยอดมาจาก Experimentdays ที่ Berlin ที่จัดมาตั้งแต่ปี 2003 Experimentdays นั้นจะเน้นในแก่นเรื่องใดเรื่องหนึ่งต่อปี และในขณะเดียวกันก็จัดแสดงถึงความยั่งยืนอย่างสร้างสรรค์ผ่านเวิร์คช็อป เลคเชอร์ และกิจกรรม “Creative Sustainability Tours” หรือการออกไปเยี่ยมชมนวัตกรรมใหม่ๆในเมือง “สำหรับในด้านงานของ id22 จะเกี่ยวกับงานการสื่อสาร มันคือการศึกษาสิ่งเหล่านี้ แล้วก็เขียนเกี่ยวกับมัน มันคือการสื่อสาร การสร้างเครือข่าย การกระจายข่าว การจัดอีเว้นท์ ทุกๆอย่างมันเกี่ยวกับการสื่อสารหมด เราต้องทำมันด้วยแนวคิดแบบการตลาดด้วยและมันก็เกี่ยวข้องกับภาษา ดังนั้นมันเป็นเรื่องสำคัญนะว่าเราจะเรียกมันว่าอะไร ทุกๆอย่างมีชื่อและก็ต้องเข้าถึงได้
>>> มาทำความรู้จักกับสังคม cohousing กันต่อ
คุณภาพที่เพิ่มมากขึ้น
เราได้พูดคุยกับ Thomas Honeck ซึ่งเคยทำงานให้กับหลายองค์กรที่เกี่ยวกับการพัฒนาสังคมและความยั่งยืน หนึ่งในนั้นก็คือการได้ทำงานกับ id22 เมื่อปี 2010 สำหรับ Honeck เองก็คุ้นเคยกับระบบ Cohousing ไม่น้อยเลยทีเดียว โดยตัวเขาเองก็ได้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ cohousing เมื่อก่อนจบปริญญาโท เขาชี้แจงว่า cohousing นั้นมีค่าเช่าที่ไม่แพงและยังสร้างสังคมที่ดีให้แก่สมาชิก และในขณะเดียวกันก็ยังเพิ่ม “คุณภาพ” ให้แก่ละแวกบ้านนั้นด้วย พัฒนาการของ cohousing และ coworking space นั้น สามารถช่วยเร่งสร้างคุณภาพให้กับพื้นที่ที่อยู่อาศัยและทำงาน หนึ่งตัวอย่างที่ Honeck ได้ยกขึ้นมานั้นคือ Werkpalast Lichtenberg ในเบอร์ลิน โครงการนี้ได้ประสบความสำเร็จในการการปรับปรุงอาคารร้างที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยคอมมิวนิสต์ ให้กลายเป็น cohousing space ที่ทั้งเจริญ สวย และคึกคักอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
:::
ประชากรที่แก่ลงเรื่อยๆ
เบอร์ลินและเมืองอื่นๆในประเทศเยอรมันล้วนแต่กำลังประสบปัญหาจำนวนการเกิดที่ลดลง เบอร์ลินมีจำนวนประชากรที่อยู่ในวัยกลางคนมากขึ้น แล้วอีกจำนวนมากก็กำลังเข้าสู่วัยชรา ดังนั้นความต้องการสำหรับสถาบันและโครงการที่เหมาะสำหรับคนเหล่านี้จึงเป็นที่ต้องการมากขึ้น Cohousing เองก็เสนอวิธีแก้ปัญหาเกี่ยวกับวัยของประชากรที่แก่ลงเรื่อยๆ โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนจากทุกวัยรับและสร้างผลประโยชน์ให้แก่กันและกัน
ใน Stockholm ประเทศสวีเดน Färdknäppen เป็น cohousing space ที่ออกแบบมาเพื่อคนที่ “อยู่ในครึ่งที่สองของชีวิต” ประมาณ 50% ของผู้อยู่อาศัยมีอายุมากกว่า 70 ปี ตามกฏหมายของสวีเดนแล้ว สมาชิกของโครงการจะต้องมีส่วนร่วมในการทำอาหารและทำความสะอาดตาม “ความสามารถของตนเอง” ความสามารถของคนวัย 50 ปีอาจจะมีความแตกต่างอย่างมากเมื่อเทียบกับคนวัย 90 แต่ทั้งนี้ ทุกคนต้องมีส่วนร่วม
กลุ่ม cohousing นี้จะจัดมื้อเย็นร่วมกันทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ และเพื่อให้มื้อเย็นสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีจึงมีการแบ่งเป็น 6 กลุ่มด้วยกัน แต่ละทีมจะทำอาหารหนึ่งอาทิตย์ การทำความสะอาดก็ถูกแบ่งในลักษณะนี้เหมือนกัน การได้ทำงานด้วยกันช่วยให้ผู้อยู่อาศัยที่นี่สามารถดำเนินชีวิตตามที่ต้องการได้ จากที่ CoHousing Cultures ได้เขียนไว้ “สังคมนี้ได้ช่วยโน้มน้าวให้คนเห็นว่าการอยู่ที่ Färdknäppen นั้นช่วยเพิ่มอายุเราอีก 5 ปีเป็นอย่างต่ำ พวกเขาบอกว่าผู้อยู่อาศัยที่นี่สามารถใช้ชีวิตที่ดีได้จนลมหายใจสุดท้ายเลยทีเดียว”
:::
ความสัมพันธ์ระหว่างโครงการและละแวกบ้าน
จริงๆ แล้วหมู่บ้านแบบ cohousing ก็มีความเสี่ยงอยู่เหมือนกัน เพราะว่ามันสามารถกลายเป็นเกาะได้ ความเสี่ยงนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสังคมนั้นปิดกั้นไอเดียใหม่ๆจากโลกภายนอก แต่ปัญหานี้ก็สามารถแก้ไขได้ผ่านการป้องกันอย่างง่ายๆ
มีหมู่บ้าน cohousing จำนวนมากที่จัดกิจกรรมภายในกลุ่มเพื่อนบ้านด้วยกัน การ Open house หรือการเปิดบ้านเป็นอีกหนึ่งวิธีเพื่อแก้ปัญหานี้ หรืออาจจะทำให้เล็กกว่านั้นก็ได้ Honeck กล่าวถึง Werkpalast Lichtenberg ว่าที่นั่นวางแผนที่จะวางม้านั่งไว้บนทางเดินหน้าบ้านของพวกเขาเพื่อต้อนรับคนที่เดินผ่านไปผ่านมาและเป็นพื้นที่ให้สมาชิกได้นั่งพูดคุยกัน
>>> เดินหน้าสู่อนาคตของ cohousing
ความแตกต่างของแต่ละบุคคล
Honeck อธิบายถึงวิธีที่ cohousing ตอบสนองความต้องการของวิถีชีวิตของคนสมัยนี้ เขาเล่าว่า 54% ของบ้านในเบอร์ลินนั้นมีผู้อยู่อาศัยเพียงแค่คนเดียว ซึ่งเท่ากับ 30% มากกว่าเมืองอื่นๆในประเทศ แค่เพียงในช่วง 2002 - 2010 เอง จำนวนนี้ก็เพิ่มขึ้นถึง 5% ในปี 2010 มีชาวเบอร์ลินเพียง 16% เท่านั้นที่อยู่ในที่พักอาศัยที่อยู่กัน 3 คนขึ้นไป Honech และ LaFond ได้พูดถึงปัญหานี้ใน CoHousing Cultures ว่า “ในยุคที่พวกเราต่างแยกกันอยู่คนเดียว ความต้องการสำหรับความเป็นคอมมิวนิตี้จึงมากขึ้น” Honeck ยังกล่าวต่ออีกว่า การ cohousing นั้นเติมเต็มความต้องการส่วนบุคคลได้มากกว่าการอดทนเป็นส่วนนึงของอะไรซักอย่างซะอีก แต่มันเติมเต็มความต้องการที่จะได้ทำงานเป็นทีม สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆขึ้นมา และได้ร่วมมือกันอย่างเต็มที่
ในส่วนเทรนด์ของการ “อยู่คนเดียว” นั้นก็ได้ระบาดไปทั่วโลก มีทางออกอีกมากมายที่การ cohousing สามารถช่วยคุณได้ เช่น ที่ Silicon Valley เองก็มี Rainbow Mansion ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่าง coworking space และ cohousing space ที่มีเป้าหมายจะดึงคนที่เก่งๆ และมีความคิดแปลกใหม่มาอยู่ด้วยกัน ตอนนี้มีสมาชิกทั้งหมด 7 คนที่ “มุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงโลก” อาศัยอยู่ในบ้านนี้ มีงานอีเว้นท์มากมายที่จัดในบ้านหลังนี้ เช่น การนำเสนอผลงานของแต่ละคนและการสนทนาที่เปิดกว้าง และที่นี่ยังมีแล็บชีวภาพและเวิร์คช็อปอีกด้วย Rainbow Mansion เรียกตัวเองว่าเป็นสังคมที่เคารพต่อที่มาของไอเดียนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามสร้างความหมายใหม่ๆ ให้กับชื่อเดิม
:::
พื้นที่ส่วนตัวและคอมมิวนิตี้
เพื่อที่จะเติมเต็มความต้องการพื้นฐานของการสร้างคอมมิวนิตี้ Honeck แจงว่าจุดเด่นของ cohousing คือการที่ให้ทุกๆคนได้รับความเท่าเทียมกัน แต่ก็ยังขัดกับความต้องการสำหรับพื้นที่และเวลาส่วนตัว ในองค์กรที่ผู้อยู่อาศัยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นไม่ควรเรียกร้อง เทความรับผิดชอบ หรือกินเวลาเหล่าสมาชิกจนมากเกินไป คอมมิวนิตี้เหล่านี้ควรจะมีประสิทธิภาพและสามารถเสนอวิธีแก้ปัญหาให้กับสมาชิกได้ ถ้าไม่สามารถสร้างความสมดุลได้ เป้าหมายของการมีหมู่บ้าน cohousing ก็คงจะไร้ผล เรียกได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งก่อนที่จะวางแผนเกี่ยวกับการแบ่งความเป็นส่วนตัวและความเป็นส่วนกลางระหว่างการประชุมและวางแผนสร้าง cohousing
:::
อนาคตของ cohousing และ coworking
Dr. LaFond กล่าวว่า ในขณะที่การ coworking กำลังขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี เราเองก็เริ่มจะเห็นการรวมตัวกันระหว่าง coworking space และ cohousing space แต่ละที่ต่างก็เอื้อหนุนซึ่งกันและกัน “ตอนนี้ก็มีการตื่นตัวที่เกิดขึ้นมาจากความต้องการในความยืดหยึ่น (ทั้งในวิถีชีวิตและการทำงาน) และความคิดที่จะแชร์รากฐาน เพราะว่ามันมีประสิทธิภาพและเป็นการสร้างคอมมิวนิตี้ในที่นั้นๆ คุณสามารถแลกเปลี่ยนไอเดีย สนับสนุนเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทำงานร่วมกัน และเรียนรู้จากกัน ดังนั้นเราหวังว่าจะเห็นโครงการแบบนี้อีกในปีต่อๆไปในเบอร์ลินและเมืองอื่นๆ”